สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ผนึก “ธ.กรุงเทพ-ม.หอการค้าไทย” เปิดหลักสูตร พศส. ประจำปี 2567

613

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2567 ครั้งที่ 18 ในหัวข้อ “ปลดล็อกศักยภาพการเงิน สู่ความมั่งคั่งยุคดิจิทัล” ที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 17 สิงหาคม 2567 ณ อาคาร 10 ชั้น 1 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นางสาวดวงพร อุดมทิพย์ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ กล่าวว่า การจัดการอบรมให้ความรู้ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นประจำทุกปี ในการจัดการอบรมจะใช้เวลาอบรม 6 สัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน – 17 สิงหาคม 2567

สำหรับวัตถุประสงค์ของการอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมด้านการเงิน-การลงทุนในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนสำคัญมากขึ้นและส่งเสริมให้ผู้สื่อข่าวพัฒนาศักยภาพการนำเสนอข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจผ่านสื่อรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวพจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ มีความยินดียิ่งที่มีโอกาสได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ที่ธนาคารเล็งเห็นว่าเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ผู้สื่อข่าว ในแง่การส่งเสริมความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงล่าสุดในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นปีที่ 18 โดยคณะผู้จัดกิจกรรมได้เลือกหัวข้อ “ปลดล็อกศักยภาพการเงิน สู่ความมั่งคั่งยุคดิจิทัล”

ทั้งนี้ ปัจจุบันคำว่า “ดิจิทัล” คงเป็น New Normal สำหรับชีวิตประจำวันของพวกเรา ที่เริ่มคุ้นชินไปกันนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ดิจิทัล ระบบดิจิทัล จนถึงตอนนี้ที่แม้แต่เรื่องการเงินก็ถูกพัฒนาไปสู่โลกดิจิทัล ทั้งแบบที่เราคุ้นเคยกันอย่าง กระเป๋าเงินดิจิทัล และดิจิทัลแบงก์กิ้ง ไล่เรียงไปจนถึงโลกการเงินดิจิทัลที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่าง Cryptocurrency Blockchain และ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ที่จะก้าวเข้ามาเป็นมิติใหม่ที่ใช้ดิจิทัลมาช่วยคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจได้ไม่แพ้กับปัญญาของมนุษย์

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าคิดต่อไปก็คือ ลำพังเพียงความรู้ด้านการเงินแบบเดิมที่เคยใช้กันอยู่ นับเป็นเรื่องที่เข้าใจยากพอสมควร แม้แต่เรื่องพื้นฐานเรื่องออมเงิน เรื่องกู้เงิน ก็เป็นโจทย์ใหญ่เพราะหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจ พวกเรายังส่งเสริมกันเรื่อง Financial Literacy กันเยอะมาก แต่วันนี้ทุกคนกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะเราต้องเอาบริบทด้านดิจิทัลเข้ามาผสมกับเรื่องการเงินเข้าไปอีกชั้นนึง เพื่อจะนิยามหรืออธิบายการเงินในยุคใหม่ที่ก้าวล้ำไปมากขึ้น ฉะนั้น เรื่องที่ยากอยู่แล้ว ก็ดูเหมือนจะกำลังยากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องที่ดี ที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เห็นความสำคัญของประเด็นนี้ และตั้งใจหยิบขึ้นมาเป็นหัวข้อสำคัญของโครงการฯ ในปีนี้ เพราะสื่อมวลชนถือเป็นตัวกลางสำคัญที่จะช่วยสื่อสารเพื่อส่งต่อข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องไปสู่สาธารณะ ดังนั้น การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับเรื่องที่จะสื่อสารออกไป จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อความน่าเชื่อถื ของสื่อมวลชน และน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่พาผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านมาเติมอาหารสมองจานใหม่ไปด้วยกันในวันนี้

ธนาคารกรุงเทพเชื่อมั่นว่า “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง” ซึ่งในปีนี้จะช่วยให้พวกเราได้ “ปลดล็อกข้อจำกัดเดิม” และ “สร้างเสริมศักยภาพใหม่” ที่เราควรต้องมีสำหรับโลกการเงินในยุคดิจิทัล และแน่นอนด้วยหน้าที่วิชาชีพสื่อมวลชนของทุกท่าน จึงเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยกันส่งต่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเหล่านี้ไปสู่ประชาชนในวงกว้าง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนโลกการเงินยุคใหม่ไปด้วยกันอย่างแข็งแรงต่อไป

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวต้อนรับผ่าน VTR กับผู้เข้าร่วมอบรมฯ ว่า ในทุกปีมหาวิทยาลัยได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้กับสมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ แน่นอนว่าปีนี้เป็นอีกปีที่มหาลัยหอการค้าไทย มีความยินดีที่จะต้อนรับสำหรับบุคลากรสมาคมที่เข้ามาอบรมเพิ่มความรู้ด้านการเตรียมพร้มในทักษะเพิ่มเติมเกี่ยวกับทางด้านข่าวสาร ด้านเศรษฐกิจ เชื่อว่านักวิชาการหลายท่านที่ทางสมาคมฯ ได้คัดสรรมาอย่างดี จะเข้ามาเติม ทักษะความรู้ต่างๆ ให้กับผู้เข้าร่วมอบรม

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้หารือนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่าในปีนี้จะยังคงเดินหน้าโครงการ CEO Award ถือเป็นงานที่ร่วมกันโดยคณะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะบริหารธุรกิจ จะช่วยคัดกรองและคัดเลือก CEO ที่โดดเด่นทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อได้รับรางวัล CEO Awards หรือสุดยอด CEO อีกทั้งยังเป็นงานที่นายกรัฐมนตรี จะมามอบรางวัลด้วย

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้มอบทุนการศึกษาจำนวนหนึ่ง ผ่านสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ในการให้ทุนกับสมาชิกผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้เข้ามาเรียนหลักสูตรในระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยด้วย