ม.อ. ผนึกกำลัง IPF ระดมนักวิชาการรางวัลโนเบลร่วมปาฐกถาพิเศษ เปิดเวทีแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ มุ่งยกระดับองค์ความรู้ใหม่

244
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับ International Peace Foundation (IPF) เปิดเวทีร่วมจัดปาฐกถาพิเศษภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ระดมนักวิชาการได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Laureate) ร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เภสัชศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ใหม่ให้แก่ครู นักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ในวาระครบรอบ55 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับInternational Peace Foundation (IPF) เชิญนักวิชาการที่ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Laureate) ร่วมจัดปาฐกถาพิเศษภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ซึ่งเป็นการฉลองครบรอบ50 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ แบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์หลากหลายด้านวิชาการ ทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เภสัชศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความรู้ให้แก่ครู นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา

การปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ ม.อ. ดำเนินการจัดขึ้นโดยความร่วมมือหลากหลายคณะด้วยกัน ได้แก่ คณะเทคนิคการแพทย์ จัดขึ้นเปิดเวทีปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ Spreading peace through science and commerce in emerging economies โดย Dr. Sir Richard J. Roberts เป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ มาเป็นผู้มอบความรู้ในครั้งนี้, คณะวิทยาศาสตร์ หัวข้อ The importance of science for peace-building โดย Prof. Takaaki Kajita ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์, คณะเภสัชศาสตร์ หัวข้อ Personalized medicine renovation: Are we going to cure all diseases and at what price? โดย Prof. Aaron Ciechanover ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี

นอกจากนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ ดำเนินการจัดการปาฐกถาพิเศษขึ้นภายใต้หัวข้อ The prospects for global financial stability โดย Prof. Robert F. Engle III ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ บรรยายภายใต้หัวข้อ The role of basic science in biotechnology โดย Prof. Randy W.Schekman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ สำหรับปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่ 15พฤศจิกายน 2566 จนถึง 27 มีนาคม 2567

“เวทีปาฐกถาในครั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของ ม.อ. ที่ได้รับเกียรติจากนักวิชาการระดับโลกได้รับรางวัลโนเบลในหลากหลายสาขามาร่วมบรรยาย ซึ่งเป็นความร่วมมือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในเครือข่ายระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ สนับสนุนทางวิชาการให้กับนักศึกษาและบุคลากรนำไปต่อสู่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ เสริมสร้างนักวิทยศาสตร์หน้าใหม่ของไทยสู่ระดับสากลต่อไปในอนาคต ตอกย้ำถึงการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมฐานความรู้ให้กับทุกคน” ผศ. ดร.นิวัติ กล่าว

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่https://www.psu.ac.th/?page=bridges